Education
Home   /   Education  /   สัมนาบทบาทมุสลิมบนเวทีอาเซี่ยน

สัมนาบทบาทมุสลิมบนเวทีอาเซี่ยน 

         สำนักข่าอะลามี่ : ศอ.บต.ร่วมกับองค์กรอิสลาม และ สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช จัดสัมมนานานาชาติ บทบาทการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในเวทีประชาคมอาเซียน 

           วันนี้ 21 ก.พ.55  ที่ห้องประชุมอาคารอเนกประสงค์ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)   อ.เมือง จ.ยะลา พ.ต.อ.ทวี  สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประธานเปิดการสัมมนานานาชาติ  “บทบาทการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในเวทีประชาคมอาเซียน”  “ The role of Islamic Education Institutions of Southern Thailand in ASEAN Community 2015” 

           จัดโดยสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดยะลา สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา และ บริษัท สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช จำกัด   จัดขึ้นเพื่อให้ความรู้ด้านการศึกษา เตรียมความพร้อมของสถานศึกษาเพื่อสู่ประชาคมอาเซียน

           โดยมีวิทยากรที่มีชื่อเสียงจากสถาบันการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ ผศ.สุกรี หลังปูเต๊ะ คณะบดีคณะศิลปะศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา  รศ.ดร.อิบราฮิม ณรงค์รักษาเขต รองผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  ดร.อับดุลฮากิม  เฮงปิยา มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา และ ตัวแทนจากองค์กรมูฮัมมาดียะห์ และ มหาวิทยาลัยมูฮัมมาดียะห์ ประเทศอินโดนีเซีย  มีผู้บริหารโรงเรียน ประธานศูนย์ ตาดีกาในพื้นจังหวัดยะลา และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วม กว่า 200 คน

            พ.ต.อ.ทวี  สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า บทบาทหนึ่งของศอ.บต.คือการส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในทุกระดับ ส่วนด้านการศึกษาอิสลาม ได้เตรียมงบประมาณ 149 ล้านบาท  เพื่อเป็นค่าตอบแทนครูผู้สอน ปรับปรุงสถานที่ และ พัฒนาศักยภาพของบุคลากรผู้สอนตาดีกาในพื้นที่ จำนวน 609 แห่ง   

           สำหรับในอาเซียน มีมุสลิมที่ใช้ภาษามลายูถึง 360 ล้านคน ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน การศึกษาด้านอิสลามศึกษา จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง  ศอ.บต.จึงร่วมกับองค์อิสลามและสถานบันการศึกษาทั้งในประเทศ และต่างประเทศจัดสัมมนาระดับนานาชาติขึ้นเพื่อเป็นการเปิดโลกทัศน์ของผู้เกี่ยวข้องในการเตรียมการในด้านต่างๆ เพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558

           ผศ.สุกรี หลังปูเต๊ะ คณะบดีคณะศิลปะศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมของสถานศึกษาเอกชนสอนศาสนาอิสลามในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จะต้องสร้างสำนึกความเป็นประชาคม ไม่ว่าจะศาสนาใด ชาติพันธ์ใด คือก็ประชาคมเดียวกัน สามารถที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรียนรู้ซึ่งกัน สำหรับสถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีจุดแข็งคือ ภาษามลายู  ดังนั้นบุคลากรจะต้องมีทักษะ ด้านการใช้ภาษาที่ถูกต้อง

           นอกจากนี้ ภาครัฐจะต้องมีนโยบายที่ชัดเจนในการเตรียมการสู่ประชาคมอาเซียนที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม พร้อมๆกับการพัฒนาบุคลากร และการประเมินผลจากกิจกรรมต่างๆที่จัดขึ้นเพื่อเตรียมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอีกด้วย