Education
Home   /   Education  /   ถอดบทเรียน: ออสเตรเลียกับการจัดการศึกษาในสังคมพหุวัฒนธรรม

ถอดบทเรียน: ออสเตรเลียกับการจัดการศึกษาในสังคมพหุวัฒนธรรม


อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บิน ชาฟิอีย์  (อับดุลสุโก ดินอะ)
ฝ่ายวิชาการโครงการพัฒนาเครือข่ายตำบลสุขภาวะจังหวัดชายแดนใต้
อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยทักษิณ
ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ
อ.จะนะ  จ.สงขลา         
Shukur2003@yahoo.co.uk
http://www.oknation.net/blog/shukur
 
                สำนักข่าวอะลามี่: "มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิ์ของอัล ลอฮฺ (สุบหานะฮูวะตะอาลา) ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลกขอความจำเริญและสันติจงประสบแด่ศาสนฑูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน"

                ผู้เขียนในนามผู้บริหารโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิได้มีโอกาสศึกษา ดูงานเกี่ยวกับการจัดการศึกษาในสังคมพหุวัฒนธรรมของประเทศออสเตรเลีย ระหว่างวันที่  ๑๐ – ๑๙  กันยายน   ๒๕๕๔   เพื่อศึกษาแนวคิดการจัดการศึกษาในสังคมพหุวัฒนธรรมของประเทศออสเตรเลีย ในองค์กรต่างๆไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐและเอกชน ซึ่งสามารถสรุปประเด็นได้ดังนี้

๑. ทำไมออสเตรเลียให้ความสำคัญกับแนวคิดพหุสังคม 

             กระทรวงการศึกษาและชุมชน (Department of Education   and Community) ได้ให้ข้อมูลว่า  ออสเตรเลียเป็นสังคมประชาธิปไตย เป็นการผสมผสานของประชาธิปไตยเสรีนิยมของสหราช อาณาจักรและอเมริกาเหนือ แต่ยังคงลักษณะเฉพาะตัวในแบบของออสเตรเลียมี  ประชากรกว่า 20 ล้านคน เป็นประเทศที่มี พื้นที่ใหญ่เป็นอันดับหกของโลก มีสังคมพหุวัฒนธรรมประกอบด้วย ชาวอะบอริจิน ชาวเกาะช่องแคบทอร์เรส และผู้อพยพจากประมาณ 200 ประเทศทั่วโลก ในระยะเวลา 60 ปี ออสเตรเลียมีการวางแผนรับผู้อพยพ ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีผู้ย้ายถิ่นฐานมาออสเตรเลียกว่า 6 ล้านคน รวมทั้ง ผู้ลี้ภัยกว่า 600,000 คน ทำให้จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นจาก 7 ล้านคน เป็น 20 ล้านคน แม้ว่าออสเตรเลียจะเป็นประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก แต่ประชากรมากกว่า 4.1 ล้านคนสามารถพูดภาษาที่สองได้  

            ดังนั้นทำให้กระทรวงได้กำหนดนโยบายหลักของทุกโรงเรียนคือการจัดการศึกษาแบบพหุวัฒนธรรมไม่ว่าศาสนา  ภาษาและเชื้อชาติเช่นการให้โรงเรียนโรงเรียนจัดการศึกษาศาสนาทั่วไป(General Religious Education) การศึกษาศาสนาพิเศษ (Special Religious Education)  

            การกำหนดนโยบายดังกล่าว  เป้าหมายสำคัญ คือการเปลี่ยนแปลงสถานศึกษาซึ่งมี นักเรียนจากวัฒนธรรมที่หลากหลาย ชนชั้นทางสังคม เชื้อชาติ และกลุ่มชน โดยการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ของผู้เรียนที่มีความเท่าเทียมกันให้เกิด ขึ้นในสถานศึกษา เป็นการเพิ่มขึ้นของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนทุกคน ภายใต้ข้อสมมติฐานที่ว่า ผู้สอนสามารถเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้นักเรียนทุกคนที่มาจากกลุ่มที่ หลากหลาย โดยการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางการศึกษาที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมและลักษณะ การเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละคนนอกจากนี้ ยังช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาเจตคติทางบวกต่อความแตกต่างทางวัฒนธรรม เชื้อชาติ กลุ่มชน และศาสนา เมื่อผู้เรียนมองเห็นความเป็นจริงของความแตกต่างของกลุ่ม เขาจะได้รับความเข้าใจที่ถ่องแท้ส่งผลไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอันนำไป สู่การเป็นสังคมแห่งพหุวัฒนธรรมในที่สุด

             การให้ความสำคัญดังกล่าวไม่เพียงแต่การจัดการศึกษาในระดับอนุบาล  ประถมศึกษาและมัธยมศึกษาเท่านั้นแต่ยังต่อยอดในระดับอุดมศึกษาซึ่งผู้เขียนได้เข้าไปพบปะพูดคุยกับคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยซิดนีย์เช่น Prof. Dr. Anthony Welch  Prof. Dr. Philip Hirch  มหาวิทยาลัยเมลเบร์น Prof. Dr. Abdulah  Saeed  ในขณะที่มหาวิทยาลัยลาทูบ ได้โครงการค่ายอบรมสานเสวนาระหว่างผู้นำมุสลิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเวลาสองเดือน ภายใต้การกำกับดูแลโดยDr. Seven Schottmann Mr. Nail Aykan และ Mr . Larry Marshall โดยรัฐบาลออสเตรเลียสนับสนุนงบประมาณทั้งหมดทั้งค่าเดือนทาง  ที่พัก ค่าใช้จ่ายประจำวันซึ่งมีตัวแทนจากประเทศไทยสองท่านเข้าร่วมคืออาจารย์ฮาฟิซ พิธีกรชื่อดังจากรายการดีสลาตัน และอาจารย์ชุกรียะห์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี

 ๒. การปรับตัวขององค์เอกชนในออสเตรเลียเกี่ยวกับพหุวัฒนธรรม

          นอกจากรัฐบาล โรงเรียนและมหาวิทยาของรัฐให้ความสำคัญกับนโยบายพหุสังคม  แล้ว พบว่าองค์กรเอกชนยังให้ความสำคัญกับนโยบายดังกล่าวซึ่งผู้เขียนและคณะได้เข้าไปศึกษาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับมูลนิธิความสัมพันธ์พหุวัฒนธรรม Affinity  Intercultural  Foundation (AIF) ในเมืองซิดนีย์และ The  Interfaith  Network  of  the  city  of  Greater  Dandenong เมืองเมลเบิร์น ซึ่งเป็นเครือข่ายศาสนสัมพันธ์แห่งแรกในออสเตรเลีย  

          ทั้งสององค์กรจัดกิจกรรมต่างๆมากมายในรูปแบบการให้การศึกษา  สัมมนา สานเสวนา ค่ายอบรม ทั้งในระดับท้องถิ่น  ชาติและนานาชาติรวมทั้งการร่วมมือกับชุมชน  โรงเรียน  มหาวิทยาลัย

๓. ข้อเสนอแนะ

        หลังจากศึกษาดูงานเสร็จสิ้นทางคณะของพวกเราได้จัดประชุมเพื่อสรุปผลการศึกษาดูงานในประเด็นการศึกษาพหุวัฒนธรรมและนำเสนอรองปลัดกระทรวงต่างประเทศ ณ ห้องประชุมกระทรวงเมื่อวันที่ ๑๙  กันยายน ๒๕๕๔ ไว้ว่าความสำเร็จของการดำเนินงานด้านพหุวัฒนธรรม  เพื่อให้คนที่อาศัยอยู่ในออสเตรเลียทุกคนทุกเชื้อชาติ  ศาสนา  อยู่ร่วมกันได้  เกิดจาก

          ๑.  การกำหนดนโยบายของรัฐบาลและสนับสนุนงบประมาณให้ทุกภาคส่วนดำเนินงานอย่างจริงจังและให้อิสระ พร้อมทั้งการดำเนินนโยบายด้านการศึกษาเกี่ยวกับพหุวัฒนธรรมของออสเตรเลียที่ให้โอกาสแก่คนทุกเชื้อชาติและศาสนาอยู่อย่างสันติสุขภายใต้กฎหมายของออสเตรเลีย  ทำให้เกิดความสงบสุข  ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง

          ๒.  การประสานงานระหว่างองค์กรเพื่อให้เรียนรู้และยอมรับระหว่างเชื้อชาติ  โดยการจัดบริการขั้นพื้นฐานอย่างเป็นธรรม

         ๓.  การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้  โดยใช้การศึกษาเป็นฐานในการพัฒนาเยาวชนและบุคลากรทางการศึกษานั้นเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ยั่งยืน 

           โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  หากได้จัดตั้งมูลนิธิและองค์กรสานสัมพันธ์พหุวัฒนธรรม  โดยนำแนวทางของออสเตรเลียมาปรับใช้ให้เหมาะสมในการดำเนินการ  เสริมสร้างภาวะผู้นำให้ความสำคัญกับการให้ความร่วมมือ  สร้างความเข้าใจด้านวิถีวัฒนธรรมของแต่ละศาสนา  โดยเน้นการแสงหาจุดร่วมสงวนจุดต่าง  จัดสานเสวนาและหลักสูตรการเรียนการสอนพหวัฒนธรรมในห้องเรียนและกิจกรรมเสริมต่าง ๆ  อย่างบูรนาการระหว่างหลักสูตรสามัญและศาสนา