นักวิชาการอิสลาม 30 ประเทศทั่วโลก ร่วมสัมมนาคุณค่าของอิสลามในโลกที่เปลี่ยนแปลงณ ม.อ.ปัตตานี
สำนักข่าวอะลามี่: มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เชิญนักวิชาการอิสลามทั่วโลกกว่า ๓๐ ประเทศร่วมสัมมนาในวันที่ ๒๓ – ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๘ ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพื่อชี้นำให้สังคมมีความสามัคคี ส่งเสริมค่านิยมทางศีลธรรมเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติและความสงบสุขอย่างยั่งยืนในสังคมพหุวัฒนธรรม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมปอง ทองผ่อง รองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี แจ้งว่าวิทยาลัยอิสลามศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้กำหนดจัดการสัมมนานานาชาติทางอิสลามศึกษา เป็นครั้งที่ ๓ ในรอบ ๖ ปี โดยครั้งนี้ได้ตั้งเป้าหมายที่จะเชิญนักวิชาการอิสลามกว่า ๔๐๐ คน จากทุกทวีป
ทั่วโลกรวม ๓๐ ประเทศ เข้าร่วมการสัมมนาระหว่างวันที่ ๒๓ – ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๘ ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สังคมตระหนักในคุณค่าของอิสลามและชี้นำให้ประชาชาติมีความสามัคคี กำหนดค่านิยมทางศีลธรรมที่ใช้ร่วมกันของมนุษยชาติ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่าง
สงบสุขในสังคมพหุวัฒนธรรม
รองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่าการสัมมนานานาชาติ หัวข้อ “คุณค่าอิสลามในโลกที่เปลี่ยนแปลง” เป็นโครงการต่อเนื่องจากการสัมมนานานาชาติทั้งสองครั้งที่ผ่านมา กล่าวคือการสัมมนาครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๑ – ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๓ ในหัวข้อ “บทบาทอิสลามศึกษาในยุคโลกาภิวัตน์” ซึ่งในการสัมมนาครั้งนั้นนักวิชาการอิสลามศึกษาจาก ๑๖ ประเทศ ได้ร่วมกันกำหนด “ปฏิญญาปัตตานี” ที่มีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการให้อิสลามศึกษา มีส่วนในการพัฒนาวิชาการ เยาวชน การร่วมมือกันเพื่อสร้างสันติสุขให้แก่มวลมนุษย์ โดยแบ่งได้เป็น ๕ หัวข้อ ได้แก่ ประการที่ ๑ อิสลามศึกษาจะนำไปสู่สันติสุขและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่เฉพาะระหว่างชาวมุสลิมเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงมวลมนุษยชาติ ประการที่ ๒ อิสลามศึกษาจะมีการบูรณาการระหว่างศาสตร์ด้านศาสนาและศาสตร์ทั่วไปเข้าด้วยกัน เพื่อประโยชน์สุขของชุมชนและอนาคตของเยาวชนในรุ่นต่อ ๆ ไป
ประการที่ ๓ อิสลามศึกษาจะส่งเสริมและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น เพื่อนำไปสู่การเติบโตและการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งรวมถึงความมั่นคงและความยุติธรรมทางสังคมด้วย ประการที่ ๔ อิสลามศึกษาจะส่งเสริมความเป็นนาชาติของมุสลิม ซึ่งจะสนับสนุนให้เกิดการประสานความร่วมมือระหว่างพลเมืองของโลก และประการที่ ๕ อิสลามศึกษาจะส่งเสริมเรื่องโอกาสในการพูดคุยระหว่างสมาชิกประชาคมมุสลิม และเสริมสร้างคุณค่าของมนุษย์ให้ตระหนักถึงสันติภาพและป้องกันแนวคิดหลักศาสนาที่บิดเบือน
ส่วนการสัมมนาอิสลามศึกษา ซึ่งจัดขึ้นครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๔ – ๑๖ มกราคม ๒๕๕๖ โดยมีปราชญ์อิสลามและนักวิชาการอิสลามศึกษาจาก ๓๐ ประเทศ ร่วมระดมความคิดในหัวข้อ อิสลามศึกษาในโลกที่เปลี่ยนแปลง : โอกาสและสิ่งท้าทาย ผลจากการสัมมนาครั้งนั้นได้ยกระดับการจัดการศึกษาของวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ให้ก้าวสู่นานาชาติ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่จะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาเอเซียน หรือ Asean Education Hub ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนมุสลิมและสร้างสังคมสันติสุขและสมานฉันท์ที่ยั่งยืนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ในอนาคต สร้างภาพมุสลิมในประเทศไทยต่อสายตาชาวโลกมุสลิมในมิติเสรีภาพทางวิชาการและการนับถือศาสนา เกิดเครือข่ายอิสลามศึกษาและมีการแลกเปลี่ยนคณาจารย์และนักศึกษาทางด้านวิชาการ การวิจัย การประชุมในกลุ่มประเทศอาเซียน กลุ่มประเทศโลกอาหรับ และกลุ่มประเทศโลกมุสลิม
สำหรับการสัมมนานานาชาติครั้งนี้ ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ ๓ ในหัวข้อ “คุณค่าอิสลามในโลกที่เปลี่ยนแปลง” “Islamic Values in a Changing World” ในวันที่ ๒๓ – ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๘มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ตั้งเป้าหมายที่จะเชิญนักวิชาการอิสลามกว่า ๔๐๐ คน จากทุกทวีปทั่วโลกรวม ๓๐ ประเทศ มาร่วมระดมสมอง เพื่อให้สังคมตระหนักในคุณค่าของอิสลามและชี้นำให้ประชาชาติมีความสามัคคีและร่วมกันกำหนดค่านิยมทางศีลธรรมที่ใช้ร่วมกันของมนุษยชาติ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสงบในสังคมพหุวัฒนธรรม