Education
Home   /   Education  /   รู้จักนักเรียนไทยในอิสตัลบูล ประเทศตุรกี

รู้จักนักเรียนไทยในอิสตัลบูล ประเทศตุรกี

            สำนักข่าวอะลามี่ : การเดินทางของคณะรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และร่วมพบปะกับนักเรียนไทย ณ  นครอิสตันบูล สาธารณรัฐตุรกี เมื่อเร็วๆ นี้ ไดทำให้รัฐบาลไทย รู้จักการศึกษาในประเทศตุรกีมากขึ้น

            ทั้งนี้นำคณะโดย นายณรงค์  ศศิธร  รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ  นายธฤต จรุงวัฒน์  เอกอัคราชทูต ณ.กรุงอังการา นครอิสตันบูล สาธารณรัฐตุรกี ดร.มะรอนิง สาแลมิง  รองเลขาธิการ ศอ.บต.  โดยได้พบปะพูดคุยกับนักเรียนไทยนักในตุรกีกว่า 40 คน

            นายมูซันนา วงษ์สันต์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์  ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยอิสตันบูล   ประธานสมาพันธ์นักเรียนไทยในตุรกี  กล่าวว่า ตนเองมาอยู่ที่นี่ 9 ปี เดิมเป็นชาวกรุงเทพมหานคร ได้ทุนการศึกษาตั้งแต่มัธยมปลาย ทั้งประเทศมีนักเรียนไทยในตุรกี มีประมาณ 130 คน โดยนักศึกษาไทยที่นี่ ส่วนใหญ่มาจากภาคใต้

            สำหรับหลักสูตรของทุนมัธยมปลายที่เรียนมากคือ ด้านศาสนา ส่วนคนที่มาในทุนของรัฐบาลที่มาเรียนระดับมหาวิทยาลัย ก็จะเลือกเรียนได้หลากหลาย ทั้งแพทย์ สังคมศาสตร์ การบิน และบริหาร เป็นต้น

            " หลักสูตรการเรียนของที่นี่จะแตกต่างจากประเทศไทย คือไม่เน้นกิจกรรม แต่จะเน้นการเรียนและการสอบเป็นหลัก "

            นายมูซันนา บอกว่า นักเรียนไทยในอิสตันบูล จะมีโอกาสการพบปะกันประมาณ  2 อาทิตย์ต่อครั้ง ปัจจุบัน มีนักเรียนไทย เรียนอยู่ที่อิสตันบูล ประมาณ 20 คน สำหรับกิจกรรมและการสนทนาของคนไทยที่นี่ การพูดคุยกันส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของวิชาการ การเมือง ศาสนาและสังคม มีการจับประเด็น พูดคุย หรือการเล่นกีฬา การเยี่ยมองค์กรต่าง ๆ ที่ทางองค์กรของตุรกีได้จัดขึ้น

            " อยากฝากให้น้องๆ ที่จะมาเรียนที่ตุรกี เตรียมตัวทางด้านจิตใจ เพราะการเรียนที่นี่ค่อนข้างจะเป็นการเรียนที่หนัก "

          นอกจากนี้รู้สึกยินดีที่รัฐบาลไทยมีแนวทางส่งเสริมด้านการศึกษา เป็นการแลกเปลี่ยนทุนการศึกษา และเปิดมหาวิทยาลัยนานาชาติในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะสังคมมุสลิมของตุรกี มีอะไรให้ศึกษามากมาย

          “ อีกทั้งยัง มีโมเดลเป็นของตนเอง โดยเฉพาะเรื่องของการศึกษา การคิดวิเคราะห์ การฝึกให้เด็กได้มีแนวคิดวิเคราะห์เป็นของตนเอง ไม่เป็นเฉพาะผู้รับฟังอย่างเดียว จะเป็นการเปิดมิติใหม่ในเรื่องของการศึกษา ทั้งสายสามัญและศาสนาในประเทศไทย "

 

 ตีพิมพ์ครั้งแรก: คอลัมน์ เปิดดลการศึกษามุสลิม ฉบับเมษายน 2557