สันติธรรมวิทยา : โรงเรียนมุสลิมแห่งแรกในอีสาน
โดย ดร.ปรีดา ประพฤติชอบ
สังคมมุสลิมอีสานในอดีตมักจะได้รับการวิพากษ์ในแง่การอ่อนด้อยในเรื่องของการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของวิชาสามัญและศาสนา
ทั้งนี้เพราะแต่ดั้งเดิมในภูมิภาคนี้ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากนักวิชาการ และผู้รู้ในทางศาสนาที่จะเข้ามาเผยแพร่และให้ความรู้ ทั้งแก่ผู้ใหญ่และเยาวชน
อย่างไรก็ตามทางมูลนิธิเพื่อการศึกษาและพัฒนามุสลิมอีสาน ซึ่งเป็นองค์กรในท้องถิ่นของคนท้องถิ่น ตั้งขึ้นมาเพื่อที่จะพัฒนาด้านการศึกษาของเยาวชนในภูมิภาคอีสาน ทั้งในวิชาสายสามัญ รวมไปถึงในทางศาสนาและจริยธรรม แต่การทำงานในเรื่องนี้ต้องอาศัยทั้งประสบการณ์และความเข้าใจ ทั้งเงื่อนไขและข้อจำกัดของพื้นที่ ไม่สามารถจะลอกแบบมาจากท้องที่อื่น และนำมาใช้ได้โดยตรง
เพราะเป็นที่รู้ว่าภูมิภาคที่จำกัดในแง่ของจำนวนประชากรมุสลิม ที่มีอยู่น้อย และยังอยู่กันอย่างกระจัดกระจาย ทางมูลนิธิฯ จึงเริ่มจากการเปิดการสอนตั้งแต่ระดับปฐมวัย คือ ตั้งแต่ชั้นอนุบาล และเลื่อนขึ้นไปปีละหนึ่งชั้น หลังจากเปิดทำการมาได้หกปี ก็ได้มาถึงระดับประถมสาม โดยมีเด็กเริ่มต้นเพียงหกคน และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันมีกว่า 140 คน
วิธีการบริหารเริ่มจากการเปิดการสอนวงกว้าง คือ เปิดรับโดยไม่จำกัดศาสนา โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างเยาวชนรุ่นใหม่สามารถเรียนร่วมกันได้ อยู่ร่วมกันได้ ถึงแม้จะมีศรัทธาที่แตกต่างกัน โดยความเชื่อในเรื่องศาสนาก็ให้ศึกษาเรียนรู้ไปตามความเชื่อที่ตนเองนับถือ และให้ปฏิบัติตามความเชื่อของตนได้จริงๆ และ ทำการสอนโดยเน้นทักษะในเชิงปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือตัวเอง กริยา มารยาท การรักษาความสะอาด ทั้งร่างกาย และเสื้อผ้า การช่วยเหลือเกื้อกูลและแบ่งปันให้เพื่อนฝูง การเคารพผู้ใหญ่ และครูบาอาจารย์ การรู้จักสังเกตและเรียนรู้สิ่งรอบตัว
เป็นเรื่องที่น่าแปลกที่ในสภาวะที่คนส่วนใหญ่ต่างมีความคิดในเชิงลบต่อศาสนาอิสลาม และต่อคนมุสลิม โรงเรียนสันติธรรมวิทยาในระยะแรกๆ ผู้ปกครองก็ยังมีความสงสัยคลางแคลงใจว่าโรงเรียนแห่งนี้จะมาปลูกฝังลัทธิความเชื่อที่เป็นภัยทั้งต่อสังคมและความมั่นคงของประเทศชาติ ตามกระแสข่าวที่มีอยู่ในสังคมทั่วไปหรือไม่ แต่ระยะเวลาที่ผ่านไป ทางโรงเรียนก็สามารถสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้ปกครองที่ไม่ใช่มุสลิม ว่ามุสลิมและองค์กรของมุสลิมสามารถสร้างคนดี มีความสามารถ เป็นประโยชน์ทั้งแก่สังคมและประเทศชาติได้เช่นเดียวกัน
เวลาหกเจ็ดปีที่ผ่านมา อาจจะยังไม่เพียงพอในการสร้างความเชื่อมั่นได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ในช่วงเวลาเท่านี้ก็เห็นได้ชัดในเชิงประจักษ์ ว่า ความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนทั่วไปที่มีต่อโรงเรียนขององค์กรมุสลิมแห่งนี้ได้เปลี่ยนไป และ กำลังจะมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในทางบวก ก็เห็นจะต้องให้เวลากันต่อไปอีก ว่าสิ่งนี้จะเป็นจริงมากน้อยเพียงใด
ตีพิมพ์ครั้งแรก: นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2557