ศอ.บต.จับมือGIATMARA ปั้นเยาวชนสู่ผู้ประกอบการมืออาชีพ สำนักข่าวอะลามี่: ศอ.บต.ส่ง 23 เยาวชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ รับทุนฝึกอาชีพจากสถาบันเกียตมารา (GIATMARA) ประเทศมาเลเซีย เพื่อปั้นเป็นให้ผู้ประกอบการด้วยตัวเอง
เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2556 ณ สำนักงานใหญ่สถาบันเกียตมารา( IBU PEJABAT GIATMARA ) กรุงกัวลาลัมเปอร์ประเทศมาเลเซีย ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยสำนักประสานนโยบายการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม และกีฬา นำเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้รับทุนฝึกอาชีพของสถาบันเกียตมารา จำนวน 23 คน ประกอบด้วยเยาวนชายจำนวน 14 คนและเยาวชนหญิงจำนวน 9 คน ไปส่งให้อยู่ในความดูแลของสถาบันเกียตมารา โดยมี MERIYAM BINTI ABD MAJID Chicf Executive Officer Giatmara Malaysia YB.NOROL AZALI BIN SULAIMAN Ahli Majlis Mara นายร่มเดช พิศาลพงศ์ เลขานุการเอก สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ และผู้บริหารสถาบันเกียตมารา ให้การต้อนรับ
โครงการฝึกอบรมอาชีพระยะสั้น ณ สถาบันเกียตมารา ประเทศมาเลเซีย เริ่มมาจากผลการประชุมคณะกรรมการว่าด้วย ความร่วมมือทวิภาคี ไทย มาเลเซีย ตั้งแต่ ปี 2550 เป็นกรอบความร่วมมือด้านการศึกษา และการมีงานทำ โดยประเทศมาเลเซียให้ทุนแก่เยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไปฝึกอาชีพระยะสั้นกับสถาบันเกียตมารา ตั้งแต่ปี 2551 – 2554 มีเยาวชนจบมาแล้วจำนวน 107 คน สำหรับปีนี้ ประเทศมาเลเซียให้ทุนในสาขาตัดเย็บเสื้อผ้า สาขาอุตสาหกรรม สาขาการเชื่อมโลหะ สาขาซ่อมบำรุง และสาขาการทำเบเกอรี่ โดยใช้ระยะเวลาเรียนในสถาบัน 6 เดือน และฝึกในสถานประกอบการอีก 3 เดือน ใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น 9 เดือนจึงจะจบหลักสูตร ทางสถาบันเกียตมาราจัดหาที่พักให้ฟรี และมอบเงินเดือนละ 6,000 บาท เป็นค่าใช้จ่าย ตลอดหลักสูตร
นายต่วนรูไซมีย์ ลาเตะ นักเรียนที่ได้รับทุนฝึกอาชีพด้านช่างอุตสาหกรรม จากจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า สนใจมาฝึกอาชีพเพื่อต้องการพัฒนาฝีมือให้ดียิ่งขึ้น เพราะในพื้นที่จังหวัดปัตตานีที่มีโรงงานอุตสาหกรรม โดยจะนำความรู้จากสถาบันเกียตมารา มาพัฒนาสถานประกอบการในพื้นที่บ้านเราให้เทียบเท่ากับประเทศมาเลเซียให้ได้
ด้านบัณฑิตสาวจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
นางสาวลาตีฟะห์ ลอเลาะ กล่าวว่า ตัดสินใจสมัครรับทุนฝึกอาชีพเพราะต้องการประสบการณ์ในการทำงาน เรียนรู้โลกกว้างของประเทศมาเลเซีย เพื่อที่จะสามารถปรับตัวกับโลกภายนอกให้ได้ เหมือนอย่างการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพราะตัวเองพูดภาษาลายูไม่ได้จึงอยากมาเรียนที่มาเลเซีย
เพราะ นอกจากฝึกอาชีพด้านการทำเค้กและเบเกอรี่แล้วอยากได้ภาษามาเลย์กลับไปด้วย เหมือนกับเป็นการเปิดโอกาสให้กับคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หากไม่มีทุนทรัพย์ก็ไม่สามารถที่จะมาศึกษาเล่าเรียนได้ ตั้งใจว่าเมื่อจบหลักสูตรแล้วถ้ามีทุนก็จะเปิดร้านเล็กๆเป็นจุดเริ่มต้นด้วยตัวเองในก้าวแรกของการประกอบอาชีพ
ส่วน
นางสาวมูรือนี อีซอ บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จบด้านชีววิทยา แต่สนใจด้านแฟชั่นและการออกแบบ อยู่จังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า รับทุนฝึกอาชีพซึ่งแตกต่างจากที่ได้เรียนมาเพราะต้องการหาประสบการณ์ ในการทำงาน โดยที่บ้านได้ประกอบอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้าอยู่แล้ว จึงต้องการฝึกการตัดเย็บเพิ่มเติมเพื่อให้มีทักษะมากขึ้น มีความรู้ด้านการบริหารจัดการต่างๆ
" เมื่อจบหลักสูตรแล้วอยากเปิดกิจการเป็นธุรกิจส่วนตัวเล็กๆอยู่ที่บ้าน ขอขอบคุณ ศอ.บต. และรัฐบาลมาเลเซียที่ให้โอกาสในการฝึกอาชีพระยะสั้นนี้ ดีใจเป็นอย่างมากที่ได้เดินทางมาเรียนในประเทศมาเลเซียเพราะอยากมาตั้งนานแล้ว"นางสาวมูรือนี กล่าว
..........................................มูฮัมหมัดซับรี มูซอดี
สำนักสารสนเทศและประชาสัมพันธ์ ศอ.บต. รายงาน