ทูตพาณิชย์ชี้ช่องเจาะพม่าย้ำโอกาสตลาดเปิด
โดย : ปราณี หมื่นแผงวารี
สำนักข่าวอะลามี่ : การเลือกตั้งซ่อมในพม่าได้ผ่านพ้นไปแล้ว โลกกำลังจับตามองพม่าในการก้าวสู่ประชาธิปไตย
โดยชาติตะวันตกส่งสัญญาณยกเลิกบอยคอตและเตรียมแห่เข้าไปลงทุนในพม่า ซึ่งไทยเองไม่อาจมองข้ามตลาดที่กำลังเปิดแห่งนี้ได้ แต่โอกาสจะเป็นของไทยในสินค้าใดหรือการลงทุนด้านใด
กรุงเทพธุรกิจ ASEAN+ สัมภาษณ์พิเศษ นายประจวบ สุภินี อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายการพาณิชย์ ณ กรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า ถึงโอกาสและช่องทางการทำธุรกิจของไทยในพม่า ว่า สินค้าไทยยังมีโอกาสขยายตัวในตลาดพม่าได้อีกมากเพราะข้อมูลการบริโภคสินค้าไทยต่อคนต่อปี ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียนใหม่ หรือ CLMV (กัมพูชา ลาว พม่าและเวียดนาม) โดยปี 2554 พม่ามีมูลค่าบริโภคสินค้าไทยเฉลี่ยต่อคน 47.43 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1,470.35 บาทต่อต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ 4 ประเทศ อยู่ที่ 91.23 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 2,828.06 บาท
ประเทศที่มีการบริโภคสินค้าไทยสูงสุด ได้แก่ ลาว 464.92 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 14,412.54 บาท รองลงมา คือ กัมพูชา 193.69 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 6,004.48 บาท และ เวียดนาม 78.44 ดอลลาร์ สหรัฐ หรือ 2,431.50 บาท กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมาย ว่า การบริโภคสินค้าไทยในตลาดพม่า จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2555 ตั้งเป้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 94.87 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 2,940.87 บาท ปี 2556 เพิ่มเป็น 297.08 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 7,349.58 บาท ปี 2557 เพิ่มเป็น 260 ดอลลาร์สหรัฐหรือ 8,060 บาท และ ปี 2558 เพิ่มเป็น 273.33 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 8,473.33 บาท
" ตั้งเป้าว่าปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่ อาเซียนจะเป็นประชาคมเศรษฐกิจ หรือ เออีซี ที่การค้าการลงทุนจะสะดวกมากขึ้น การใช้สินค้าไทยจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 273.33 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2554 ซึ่งอยู่ที่ 47.43 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 5 เท่า ซึ่งจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยการใช้สินค้าไทยในตลาดCLMV ที่ปี 2558 จะมีมูลค่าเป็น 231.96 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าของปี 2554 ซึ่งอยู่ที่ 91.23 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน"
การตั้งเป้าหมายการขยายตัวทางกาาค้าของไทยในพม่า เกิดจากเหตุการณ์ต่างๆที่ประเมินว่า จะส่งผลให้การบริโภคขยายตัวเพิ่ม มีกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ พม่าปี 2555 มีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเป็นทางการ (US Euro สิงโปร์)ส่วนไทยอยู่ระหว่างเจรจาหาทางนำอัตราแลกเปลี่ยนไทยเข้าสู่ระบบแลกเปลี่ยนของพม่า การเปิดด่านการค้าแม่สอด (ปิดเมื่อ 14 ก.ค. 2553 และเปิดเมื่อ 5 ธ.ค. 2554 ที่ผ่านมา) และด่านอื่นๆ เช่น สิงขร จ.ประจวบครีขันธ์ คาดว่าจะเปิดเป็นด่านถาวรได้ต้นปี 2556
การเซ็นข้อตกลงหยุดยิงระหว่างรัฐบาลพม่ากับชนกลุ่มน้อย และคาดว่าปลายปีต่างประเทศจะยกเลิกการคว่ำบาตรพม่า ปี 2556 พม่าเป็นเจ้าภาพเอเชี่ยนเกมส์ ปี 2557 คาดว่าทางพม่าจะมีประธานาธิบดีเป็นผู้หญิง และพม่าได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานประเทศอาเซียน ปี 2558 ข้อตกลงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเริ่มบังคับใช้
อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายการพาณิชย์ ณ กรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ หลังการเลือกตั้งนอกจากการปกครองที่จะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แล้วยังมีข้อสังเกตเรื่องร่างกฎหมาย ระเบียบ กฎหมายทางการค้าการลงทุนขณะนี้อยู่ระหว่างทำร่างอยู่ สาระสำคัญเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจต่างชาติมากขึ้น ชี้ให้เห็นว่าพม่าเตรียมรับระบบโลกเสรี โดยปลายปีนี้ มีสัญญาณว่าสหรัฐอาจส่งเอกอัครราชทูตมาจำประจำที่พม่า จากก่อนหน้านี้ไม่เคยมีความสัมพันธ์ทางการทูต ถือเป็นการสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ
ส่วนสัญญาณการตอบรับจากฝั่งยุโรป กำลังมีความพยายามอยู่บ้างแม้อังกฤษและเยอรมัน อาจจะยังกลัวเสียหน้า หากจะเข้ามาผูกมิตรกับพม่าทันที
ส่วนความเคลื่อนไหวของไทยคาดว่าภายในปลายปีนี้ โครงการท่าเรือน้ำลึกที่ทวาย ที่ขณะนี้อยู่ในขั้นเตรียมการ กำลังจะเริ่มก่อสร้างโดยบริษัท อิตาเลียน-ไทย เดเวล๊อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กำหนดลงเสาเข็มปลายปีนี้ แม้โครงการนี้จะมีการพูดถึงมานาน แต่ยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร ซึ่งยอมรับว่าการเริ่มต้นจะยาก แต่เมื่อเริ่มลงเสาเข็มในปลายปีนี้ได้แล้ว จากนี้ไปการดำเนินการจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม เห็นว่าผู้ประกอบการไทยควรใช้ประโยชน์จากโครงการนี้ ในแง่การเป็นแหล่งลงทุน เพื่อกระจายสินค้าไปยังจีนตอนใต้ อินเดีย และเวียดนาม มากว่าจะเน้นการใช้เป็นช่องทางเข้าไปทำการค้ากับพม่าเพียงอย่างเดียว เพราะรูปแบบโครงการเป็นแบบนิคมอุตสาหกรรม เพื่อการผลิตและตั้งโรงงานมากกว่า
"พม่าต้องเตรียมตัวปรับตัวเอง และเริ่มส่งสัญญาณเรื่องกฎระเบียบทางการค้าให้เป็นไปตามอาเซียนที่ได้ตกลงไว้ ผลก็คือระบบการค้า การลงทุนจากนี้จะมีความต้องการมากขึ้น เศรษฐกิจพม่าจะดีขึ้น อย่าไปดูตัวเลขจีดีพีของพม่า ว่าอะไรโตเท่าใด เพราะตัวเลขพวกนี้เชื่อถือได้น้อย แต่ให้ดูว่าสินค้าเราขายได้ในตลาดพม่าหรือไม่ ไปดูที่ยอดขายไปดูที่การตอบรับทางธุรกิจจริงๆ อย่างไปเชื่อข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจอย่างเดียว ตลาดนี้ต้องเข้าไปลองของจริง"
ส่วนแนวทางการเข้าถึงตลาดพม่านั้น มีบทวิเคราะห์ถึงความต้องการของตลาดพม่าในปัจจุบัน ระบุว่าการมุ่งดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเสรีและการเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาในพม่าอุตสาหกรรมที่รัฐบาลให้การส่งเสริมการลงทุน ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเภสัชภัณฑ์ เหล็กและเหล็กกล้า การผลิตเครื่องจักร เครื่องหนัง อุปกรณ์และเครื่องมือสื่อสาร การผลิตของใช้ในครัวเรือน เป็นต้น ส่งผลให้ความต้องการของตลาดพม่า ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าที่ใช้เพื่ออุตสาหกรรมเหล่านี้ ได้แก่ เครื่องจักรที่ไม่ใช่ไฟฟ้าและยานพาหนะ โลหะสามัญและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า กระดาษ น้ำมันพืชเภสัชภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องเทศ ซีเมนต์ ใยสังเคราะห์และเคมีภัณฑ์
ส่วนการวิเคราะห์ความต้องการของตลาดพม่าในอนาคต พบว่าความต้องการสินค้าของตลาดพม่า ยังคงเป็นสินค้าในหมวดที่ต้องการในปัจจุบันเพราะเป็นสินค้าที่จำเป็นในการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ 1.สินค้าประเภททุน ยังเป็นที่ต้องการอย่างมากของตลาดพม่า เนื่องจากประเทศพม่ายังต้องการ การพัฒนาด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศอยู่หลายโครงการ ทั้งด้านคมนาคมขนส่งและการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับการขยายตัวด้านการค้าจากประเทศเอเชีย
2.สินค้าอุปโภคบริโภคยังมีแนวโน้มต้องการเพิ่มขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคในพม่า ยังเป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดกลางทำให้ปริมาณการผลิตที่ได้ในประเทศไม่เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ
3.วัตถุดิบและอะไหล่เครื่องจักร พม่าต้องการส่งเสริมให้มีการลงทุนในพม่า เพื่อการบริโภคภายในประเทศและเพื่อการส่งออก ทำให้ต้องนำเข้าวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมและอะไหล่เครื่องจักรเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ พม่ายังเป็นแหล่งลงทุนแห่งใหม่ในอาเซียน โดยพม่าเป็นขุมทองของสิงคโปร์ มาเลเซีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐและยุโรป เพราะพม่ามีขุมทรัพย์ธรรมชาติมากมาย ทั้งทองคำ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ หยก อัญมณี ไปจนถึงแหล่งท่องเที่ยว
"ไทยเองก็ต้องพึ่งแหล่งพลังงานจากพม่า โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ เพื่อผลิตไฟฟ้าที่ราชบุรี ล่าสุดปตท.สผ.กำลังจะขุดเจาะสำรวจก๊าซและน้ำมันในพม่าอีกสองหลุมแต่ขุดเจอก็ต้องขายให้พม่า เพราะวันนี้รัฐบาลพม่าต้องการก๊าซไปใช้ในประเทศ เพื่อรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ"
นอกจากนี้พม่าใช้สิงคโปร์ ซึ่งเก่งเรื่องการเงินช่วยพม่าปฎิรูปกฎหมายการเงินระบบบัญชี บรรษัทภิบาล เพื่อจัดการกับเงินทุนที่จะไหลเข้าตั้งแต่ต้น การจัดวางผังเมือง การขยายธุรกิจการท่องเที่ยว แลกกับธุรกิจในพม่า ที่สิงคโปร์ต้องการ และในเดือนก.พ. สหภาพยุโรปก็กำลังจะพิจารณาทบทวนการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อพม่า
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์