ILO แนะสร้างมาตรฐานการจ้างงานแรงงานภาคประมง แก้ปัญหาแรงงานขาด
สำนักข่าวอะลามี่: กระทรวงแรงงานจับมือองค์การแรงงานระหว่างประเทศสร้างและพัฒนาฐานข้อมูลความรู้ ว่าด้วยการจ้างงานและสภาพการทำงานในกิจการประมงอย่างเป็นระบบ หวังเป็นแนวทางให้แก่สมาชิกไตรภาคี นำไปพัฒนาเป็นแนวปฏิบัติในการส่งเสริมการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ และป้องกันการละเมิดสิทธิแรงงานในอนาคต
นางสาวส่งศรี บุญบา รองปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การหารือครั้งนี้เพื่อเตรียมจัดประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ ร่วมกับ Mr. Nilim Baruah หัวหน้าฝ่ายที่ปรึกษาทางวิชาการโครงการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประสานความร่วมมือในการทำงานร่วมกันในระบบไตรภาคีทั้งฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้างและเครือข่าย เพื่อให้ความคุ้มครองแก่แรงงานข้ามชาติในภาคการผลิตที่มีความเสี่ยงต่อการแสวงหาประโยชน์ จากแรงงานข้ามชาติ
อาทิเช่น งานรับใช้ในบ้าน งานก่อสร้าง งานในโรงงาน งานในภาคเกษตรกรรมและงานในภาคประมง โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมการจัดหางาน ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย องค์การนายจ้าง จะทำงานร่วมกันเพื่อจัดทำกรอบโครงการเน้นไปที่การส่งเสริมพัฒนามาตรการคุ้มครอง ซึ่งอ้างอิงจากอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการย้ายถิ่น และสิทธิ ในการทำงานซึ่งจะคุ้มครองแรงงานทุกประเภทรวมตลอดถึงแรงงานข้ามชาติ
เนื่องจากประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) ได้มีพันธกิจการดำเนินงานตามกรอบความร่วมมือกับ ไอแอลโอ ในการดำเนินโครงการส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ ซึ่งมีระยะเวลาการดำเนินการตามโครงการ 5 ปีคือตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 - 2558 และเพื่อให้
การกำหนดนโยบายการจัดหางานและการคุ้มครองแรงงานของประเทศไทยรวมถึงแรงงานข้ามชาติที่เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยมีประสิทธิภาพ
โดยนาย Nilim เสนอว่า การทำงานร่วมกันระหว่างภาคีต่างๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบการจ้างงานแรงงานข้ามชาติในกิจการประมงและเกิดแนวปฏิบัติที่ดีนั้น นายจ้างในกิจการประมงควรจะมีสัญญาจ้างงานที่ชัดเจน และให้ปฏิบัติตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 199 และ แนวปฏิบัติที่ดีที่มีการใช้ในประเทศต่างๆ มาปรับใช้เพื่อให้เกิดแนวทางปฏิบัติที่ดีในการจ้างงานประมงในประเทศไทย
ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในกิจการประมง ทั้งนี้ ILO จะมีการทำงานร่วมกันระหว่างสมาคมประมงแห่งประเทศไทย และสถาบันการศึกษาในเรื่องการศึกษาวิจัย เพื่อสำรวจการจ้างงานและสภาพการทำงานในภาคประมงของไทย รวมถึงการศึกษาดูงาน ณ เมืองอำบอน ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในเรื่องสภาพการจ้างงานและรวมถึงปัญหาในกิจการแรงงานประมงต่อไป
" กระทรวงแรงงานให้ความสำคัญต่อการดำเนินการคุ้มครองแรงงานสิทธิแรงงานข้ามชาติ จึงยินดีที่จะมีความร่วมมือในการทำงานที่จะมีต่อไป โดยเชื่อว่าจะเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น" นางสาวส่งศรี กล่าว