8 ปี โครงการไทย-เยอรมัน เสริมศักยภาพ SMEs ไทย พร้อมแข่งขันในตลาดโลก
สำนักข่าวอะลามี่: ฑูตเยอรมันประจำประเทศไทยและผู้แทนรัฐบาลไทย พร้อมด้วยภาคเอกชน เข้าร่วมในพิธีปิดโครงการไทย-เยอรมัน เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจ (T-G PEC) ซึ่งองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้
มร.เดวิด โอเบอร์ฮูเบอร์ ผู้อำนวยการองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย พร้อมด้วย มร.รอล์ฟ ชุลเซอร์ เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย นายเฉลิมพล ทันจิตต์ รองปลัดกระทรวง กระทรวงการต่างประเทศ และ คุณอังสนา สีหพิทักษ์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ ร่วม ในพิธีปิดโครงการไทย-เยอรมัน เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจ (T-G PEC) ซึ่งองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้
ทั้งนี้เพื่อเผยแพร่ความสำเร็จในการดำเนินโครงการในอุตสาหกรรมเกษตร 5 กลุ่ม ได้แก่ น้ำมันปาล์ม กุ้ง ผักและผลไม้ กระดาษสา และมันสำปะหลัง ส่งผลให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถปรับปรุงคุณภาพและเพิ่มผลผลิต เพิ่มโอกาสในการส่งออก และยังใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งมีการใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้
โครงการ T-G PEC มีระยะเวลาดำเนินงาน 8 ปี (พศ. 2547 – พศ. 2554) ด้วยทุนสนับสนุนจากกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ) โดยสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ: สพร. (TICA) กระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้ประสานงานฝ่ายไทย
สำหรับ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน หรือ GIZ เริ่มดำเนินงานตั้งแต่ต้นปี 2554 โดยรัฐบาลแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีได้รวม 3 หน่วยงานด้านการพัฒนา ได้แก่ สำนักงานบริการด้านการพัฒนาของเยอรมัน (DED) สำนักงานความร่วมมือทางวิชาการของเยอรมัน (GTZ) และ สำนักงานพัฒนาศักยภาพระหว่างประเทศ (InWEnt) เข้าไว้ด้วยกัน ความร่วมมือด้านวิชาการระหว่างไทยและเยอรมันดำเนินมาเป็นเวลา 55 ปีแล้ว
โดย GIZ ปฏิบัติงานในนามของรัฐบาลเยอรมัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการร่วมมือกับประเทศไทยเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน