Food & Healhty
Home   /   Food & Healhty  /   ผู้ประกอบการภูเก็ตเห็นด้วยปรับค่าแรง300บาท

ผู้ประกอบการภูเก็ตเห็นด้วยปรับค่าแรง300บาท 

         สำนักข่าวอะลามี่ : สำรวจสถานประกอบการภูเก็ต 122 แห่ง กว่า 70% เห็นด้วยปรับค่าแรง 300 บาท แต่ขอให้รัฐมาช่วยพัฒนาฝีมือแรงงาน ทยอยปรับแบบขั้นบันได ควบคุมราคาสินค้าและค่าครองชีพ

           นายสุทธิพงศ์ สายสาคเรศ แรงงานจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า จากการที่คณะอนุกรรมการอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จ.ภูเก็ต ได้มีมติเห็นชอบให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจาก 221 บาท เป็น 300 บาท และได้ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการค่าจ้างกลาง (บอร์ดค่าจ้าง) เพื่อพิจารณา ปรากฏว่าได้รับความเห็นชอบให้ปรับขึ้นเป็น 300 บาท พร้อมกับอีก 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม เดิมจะผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2555 แต่ได้เลื่อนออกไปมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายน 2555 เนื่องจากมีสถานประกอบการจำนวนมากประสบปัญหาน้ำท่วม จึงต้องการระยะเวลาในการฟื้นฟู

         “จากการสำรวจผลกระทบสถานประกอบการในจังหวัดภูเก็ตเกี่ยวกับการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ในสถานประกอบการทั้งขนาดเล็ก กลางและใหญ่ จำนวน 122 แห่ง ประมาณ 75 % เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรงดังกล่าว รวมไปถึงหอการค้าภูเก็ตและสภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ตด้วย แต่ขอให้ภาครัฐช่วยพัฒนาฝีมือแรงงานให้สูงขึ้น ควรทยอยปรับเป็นขั้นบันได ลดเงินสมทบประกันสังคมในส่วนของนายจ้าง ลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ควรควบคุมราคาสินค้าและค่าครองชีพ และจัดหาแหล่งเงินกู้แก่สถานประกอบการ ขณะที่สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ยังตอบไม่ชัดว่าเห็นด้วยหรือไม่ แต่เสนอแนะว่าควรปรับขึ้นลักษณะขั้นบันไดแบบค่อยเป็นค่อยไป และจะต้องมีการพัฒนามือแรงงานให้สอดคล้องกับค่าจ้างที่ปรับขึ้นด้วย โดยที่ผ่านมาจากการตรวจแรงงาน เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2554 ระหว่างเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2554 จำนวน 598 แห่ง มีสถานประกอบการที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องเกี่ยวกับค่าจ้างขั้นต่ำเพียงแห่งเดียว”

           อย่างไรก็ตามนายสุทธิพงศ์ ได้กล่าวถึงสถิติการเข้า-ออกงานของลูกจ้างปี 2554 ระหว่างเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2554 ว่า จากรายงานของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดภูเก็ต มีการแจ้งเข้าเพื่อเป็นผู้ประกันตนของลูกจ้างในสถานประกอบการจำนวน 40,286 คน และ แจ้งออก 33,763  คน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาคิดเป็น 16.89 % โดยเป็นผู้ประกันตนรายเดิม 29,140 คน และรายใหม่ 11,146 คน

           ในขณะที่มีเจ้าของสถานประกอบการแจ้งเข้า 15,748 แห่ง ลดจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 23.64 % เป็นสถานประกอบการเดิม 10,465 แห่ง และรายใหม่ 5,292 แห่ง ซึ่งจะเห็นว่าปริมาณผู้ประกันตนที่แจ้งเข้ามีมากกว่าแจ้งออก และการแจ้งเข้าส่วนหนึ่งจะเป็นรายเดิม อีกส่วนหนึ่งเป็นรายใหม่ ถือเป็นภาวะปกติของการประกอบธุรกิจท่องเที่ยวของภูเก็ต ซึ่งจะมีการเคลื่อนไหวของแรงงานตลอดเวลา จึงไม่น่าห่วง เพราะจากข้อมูลของการว่างงานมีน้อยมาก จากตัวเลขผู้ประกอบการที่แจ้งความต้องการแรงงานไว้ 5,470 ตำแหน่ง มีผู้สมัครงานไว้ 4,679 คน และสามารถบรรจุงานได้กว่า 4,722 คน ซึ่งสามารถบรรจุงานได้มากกว่าตำแหน่งที่มาสมัคร เนื่องจากความต้องการแรงงานมีสูง

ด้านนายวิจิตร ดาสันทัด ประธานสหพันธ์แรงงานธุรกิจโรงแรมและบริการภูเก็ต ตัวแทนภาคลูกจ้าง  กล่าวว่า เมื่อพิจารณาในแง่เศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตพบว่าเป็นไปในทิศทางที่ดี ดังนั้นการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทจึงไม่น่าจะสร้างปัญหาหรือความหนักใจให้กับนายจ้าง เพราะต้องเอาความจริงเป็นที่ตั้งในเรื่องของดีมานด์กับซัพพลาย เนื่องจากปัจจุบันภูเก็ตมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน ดังนั้นการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำก็จะทำให้มีแรงงานเข้ามาทำงานมากขึ้น