ปตท.สผ.เดินหน้ารับฟังความคิดเห็นก่อนเปิดแหล่งผลิตปิโตรเลียม 2 แปลง
สำนักข่าวอะลามี่: ปตท.สผ.เดินหน้ารับฟังความคิดเห็นก่อนเปิดแหล่งผลิตปิโตรเลียม 2 แปลง ห่างจากชายฝั่ง อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 213 กม. และ ห่างจากเกาะกระ อ.ปากพนัง ไปทางทิศตะวันออกราว 159 กม. ซึ่งมีการวางแผนที่จะติดตั้งแท่นหลุมผลิตรวม 9 แท่น ในช่วงปี พ.ศ.2557-2558 นี้
เมื่อวันที่ 20ตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา บริษัท ปตท.สผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด นำโดย นางอัจฉรา วรธรรมพินิจ ผจก.ฝ่ายส่งเสริมการประชาสัมพันธ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ บริษัท อีอาร์เอ็ม-สยามจำกัด ได้จัดทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 ในกลุ่มของส่วนราชการต่างๆในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่โรงแรมทวินโลตัส อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช โดยมี นายสุทธิพงศ์ เทิดรัตนพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมรารช เป็นประธาน และมีอนายอุทัย ภูริพงศธร พลังงานจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นผู้ประสานงานการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว
นายอุทัย ภูริพงศธร พลังงานจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่าในการรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้เป็นการรับฟังความคิดเห็นในแปลงสัมปทานของ บ.ปตท.สผ. หมายเลข G8/50 และ G9/48 ซึ่งได้มีการนำเสนอผลการศึกษา ผลกระทบ แนวทางแก้ไข ที่ทาง ปตท.สผ.ได้จัดทำร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาไปแล้ว โดยสาระสำคัญนั้น จะมีการนำเสนอในแง่มุมผลการศึกษา ผลกระทบ แนวทางแก้ไข และการติดตาม เพื่อให้รายงานมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
สำหรับข้อมูลรายละเอียดของแปลงสัมปทานดังกล่าวนั้น ที่มีการนำเสนอต่อที่ประชุมใน 2แปลง ที่มีพื้นที่ติดกัน คือ แปลงหมายเลข G8/50 และ G9/48 ซึ่งเป็นพื้นที่โครงการของ ปตท.สผ.มีที่ตั้งผ่างจากชายฝั่ง อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 213 กม. และห่างจากเกาะกระ อ.ปากพนัง ไปทางทิศตะวันออกราว 159 กม. ซึ่งมีการวางแผนที่จะติดตั้งแท่นหลุมผลิตรวม 9 แท่น ในช่วงปี พ.ศ.2557-2558 เพื่อเจาะหลุมผลิต จากนั้นจะทำการส่งปิโตรเลียมเหลวไปผลิตที่แท่นผลิตกลางในแหล่งอาทิตย์ช่วงปี 2558-2561 โดยจะมีการติดตั้งแท่นกลุ่มผลิตและเจาะหลุมผลิตครั้งละ 1 แท่นจนครบตามจำนวน จากนั้นจะวางท่อขนส่งใต้ทะเลเพื่อขนส่งปิดตรเลียมจากพื้นที่โครงการทั้ง 9 แท่นไปสู่แท่นผลิตกลางอาทิตย์ ซึ่งขณะนี้มีการผลิตอยู่แล้วในปัจจุบัน
ทั้งนี้ในการวางกรอบมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ ที่สำคัญ 5 ประเด็นหลักคือ 1.มาตรการที่เกี่ยวกับการจัดการเศษหินและโคลน 2.มาตรการเกี่ยวกับการจัดการสิ่งปฏิกูล 3.มาตรการที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบต่อการทำประมง และการคมนาคม 4.มาตรการป้องกันและลดโอกาสการเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด และ 5.มาตรการเกี่ยวข้องกับการจัดการอาชีวะอนามัย.