ซีพี เล็งขยายลงทุนโรงงานอาหารสัตว์-ฟาร์มปศุสัตว์ในลาว-กัมพูชา
สำนักข่าวอะลามี่ :"ซี.พี."เล็งขยายการลงทุนใน" ลาว-กัมพูชา" เตรียมลงทุน 250 ล้านบาท เสริมศักยภาพการผลิตแบบครบวงจรทั้งสองประเทศ รองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและการเปิดตลาดเสรีภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economic Community หรือ AEC)
นายสกล ชีวะโกเศรษฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซี.พี. ลาวและซี.พี. กัมพูชา กล่าวว่า การเปิดตลาดเสรีของ AEC จะเป็นการเปิดโอกาสให้บริษัทสามารถขยายการลงทุนและส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังประเทศใกล้เคียงได้ในอนาคต หรือแม้แต่การส่งออกไปประเทศพัฒนาแล้วก็เป็นโอกาสที่น่าสนใจ
สำหรับการลงทุนในประเทศลาว บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เป็นผู้ลงทุน 100% ขณะที่การลงทุนในประเทศกัมพูชา ซีพีเอฟถือ 25% ส่วนที่เหลือเครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่จำนวน 75%
" ตลอดเวลาที่ผ่านมา บริษัท ซี.พี. ลาว และ บริษัท ซี.พี. กัมพูชา ได้มีการขยายการลงทุนใน 2 ประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกเหนือจากเหตุผลด้านกำลังซื้อภายในประเทศแล้ว บริษัทฯยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลทั้งสองประเทศเป็นอย่างดี ประกอบกับการเมืองในประเทศที่มีความมั่นคงทำให้เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง"
ขณะเดียวกันเพื่อเสริมสร้างความมั่นคง และ ยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจและถือเป็นการต่อยอดทางธุรกิจ บริษัทฯได้มองเห็นว่า ปัจจัยหลักในการดำเนินธุรกิจด้านเกษตรอุตสาหกรรมนั้น คือ วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์โดยเฉพาะข้าวโพดและมันสำปะหลัง ซึ่งในประเทศสปป.ลาว และ ประเทศกัมพูชา ถือเป็นแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญ ที่ทั้งสองประเทศมีผลผลิตจำนวนมาก และถือเป็นวัตถุดิบที่มีคุณภาพ
ล่าสุดบริษัทจึงได้ขยายธุรกิจเข้าไปสู่ธุรกิจต้นน้ำ คือ การไปทำธุรกิจด้านพัฒนาไซโลและโรงอบข้าวโพด ที่จังหวัดไพลิน เพื่อใช้ในการเตรียมและผลิตวัตถุดิบคุณภาพดีสำหรับการผลิตอาหารสัตว์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
" บริษัทได้เข้าไปลงทุนในกัมพูชาตั้งแต่ปี 2538 จนถึงปัจจุบันบริษัทมีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 3 พันล้านบาท ประกอบด้วยโรงงานอาหารสัตว์ ฟาร์มปศุสัตว์ ไก่และหมู และธุรกิจอาหาร คือ โรงงานไส้กรอกและโรงงานแปรรูปเนื้อไก่"
นายสกล กล่าวว่า ในอนาคตบริษัทจะขยายการลงทุนในประเทศกัมพูชาโดยสร้างโรงงานอาหารสัตว์แห่งใหม่ในจังหวัดไพลิน เพื่อรองรับความต้องการด้านอาหารสัตว์ในภาคตะวันตกของกัมพูชาที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นยุทธศาสตร์ในการทำธุรกิจเนื่องจากในเขตภาคตะวันตกโดยเฉพาะจังหวัดไพลินถือเป็นแหล่งเกษตรกรรมที่สำคัญซึ่งเป็นวัตถุดิบที่จะนำมาใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ ทำให้บริษัท สามารถลดต้นทุนในการขนส่งได้เป็นอย่างดีและได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพมาใช้ผลิตอาหารสัตว์ให้มีคุณภาพต่อไป โดยเบื้องต้นระยะแรกคาดว่าจะมีกำลังการผลิต 10,000 ตันต่อเดือน นอกจากนี้บริษัทกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนทำธุรกิจสัตว์น้ำในกัมพูชาด้วย
“ธุรกิจของบริษัทในกัมพูชากำลังเดินหน้าไปด้วยดี ซึ่งในปีนี้บริษัทจะให้ความสำคัญในเรื่องธุรกิจอาหารมากขึ้นเนื่องจากยังมีโอกาสอีกมาก และในแผนธุรกิจ 5 ปี ของบริษัทบริษัทได้ตั้งเป้าเพิ่มยอดขายอาหาร อีกหนึ่งเท่าตัวในทุกๆปี” นายสกล กล่าว
นายสกล กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศกัมพูชายังมีความจำเป็นต้องนำเข้าอาหารสัตว์ / สุกรมีชีวิต จากประเทศใกล้เคียงจำนวนมาก ซึ่งแสดงให้เห็นศักยภาพและโอกาสในการดำเนินธุรกิจ โดยที่ผ่านมาธุรกิจของบริษัท ซี.พี.กัมพูชา มีการขยายตัวเฉลี่ยปีละ 20% แต่สำหรับปี 2013 นี้ ษริษัทได้ตั้งเป้าหมายรายได้รวมโดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 30% ซึ่งจะมาจากการขยายธุรกิจด้านอาหารสัตว์ ฟาร์มสัตว์ปีก ฟาร์มสุกร และอาหารสำเร็จรูป
สำหรับด้านบุคลากรนั้น ปัจจุบันบริษัทได้มีการจ้างงานในกัมพูชาประมาณ 2,000 คน ในจำนวนนี้เป็นคนไทย 40 คนซึ่งคนไทยทั้ง 40 นี้จะทำหน้าที่เป็นเหมือนพี่เลี้ยงที่จะถ่ายทอดความรู้ และ เทคโนโลยี่ในการผลิต การเลี้ยงสัตว์ให้กับพนักงานกัมพูชา และคอยผลักดัน พร้อมทั้งสนับสนุนให้พนักงานกัมพูชาได้มีโอกาสเจริญเติบโตในหน้าที่การทำงาน
“นโยบายของบริษัทให้ความสำคัญกับการเปิดโอกาสให้คนท้องถิ่นได้เข้าทำงาน สร้างโอกาสการทำงานให้กับประเทศที่เราเข้าไปลงทุน เรายังพยายามฝึกคนท้องถิ่นให้สามารถทำงานร่วมกับเรา เพราะเราต้องการพัฒนาให้บุคลากรท้องถิ่นมีทักษะเพิ่มขึ้น” นายสกล กล่าวย้ำ
นายสกล กล่าวว่า ขณะนี้คนรุ่นใหม่ในกัมพูชาซึ่งเป็นคนที่เกิดในยุคเบบี้บูมเมื่อปี 2533 (1990) ซึ่งได้รับการศึกษาดีมีความสามารถและมีความคิดทันสมัยกำลังเข้ามาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศต่อไปในอนาคต
สำหรับการลงทุนในลาวบริษัทเริ่มเข้าลงทุนตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 1 พันล้านบาท เป็นการลงทุนในธุรกิจอาหารสัตว์และธุรกิจฟาร์ม ในขณะที่ธุรกิจอาหารยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นนำร่องด้วยการทำธุรกิจไก่ย่างห้าดาว
ปัจจุบัน บริษัท ซี.พี. ลาว มีโรงงานผลิตอาหารสัตว์ในประเทศ สปป.ลาว 1 แห่งที่แขวงเวียงจันทร์ มีกำลังการผลิต 10,000 ตันต่อเดือน และ ในปี 2013 นี้ บริษัทฯจะขยายการลงทุนด้านการผลิตอาหารสัตว์โดยเปิดโรงงานผลิตอาหารสัตว์แห่งใหม่อีก 1 แห่งที่แขวงจำปาสัก เขต ลาวใต้ โดยในระยะแรกจะมีการผลิตที่ 5,000 ตันต่อเดือน เพื่อตอบสนองความต้องการการบริโภคอาหารสัตว์ในเขตลาวใต้ทั้งหมด และ เพื่อลดต้นทุนการผลิตที่ปัจจุบันต้องขนส่งจากเวียงจันทร์ลงไป
นายสกล ยังกล่าวว่า การทำธุรกิจในประเทศ สปป.ลาวนั้น ระยะแรกบริษัทเริ่มดำเนินการโดยบริษัทเข้าไปรับสัมปทานจากรัฐบาลลาวในการทำโรงงานอาหารสัตว์ฟาร์มไก่และฟาร์มสุกร ซี่งทางบริษัทได้นำเอาความรู้และเทคโนโลยีการเลี้ยงที่ทันสมัยไปประยุกต์ใช้ ทำให้ได้รับความสำเร็จและเป็นที่ยอมรับจากรัฐบาลและเกษตรของประเทศ สปป.ลาว
ปัจจุบันบริษัทมีการเลี้ยงไก่สองประเภทในลาว คือ ไก่เนื้อและไก่พื้นเมือง ทั้งนี้ไก่พื้นเมืองจะได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากกว่าไก่เนื้อ โดยในปีนี้ บริษัทตั้งเป้าหมาย จะขยายปริมาณการเลี้ยงไก่พื้นเมืองเพิ่มขึ้น 50% ส่วนจำนวนแม่พันธุ์สุกรจะเพิ่มขึ้นอีก 100 % รวมทั้งการผลิตไข่ไก่จะเพิ่มขึ้น 50% เพื่อเลี้ยงประชากร 6 ล้านคน ในลาว
“โอกาสในการขยายธุรกิจทั้งในลาวและกัมพูชายังมีสูง เนื่องจากรัฐบาลทั้งสองประเทศให้การสนับสนุนบริษัทเป็นอย่างดี ในกัมพูชาจะมีการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคมนี้ แสดงให้เห็นถึงเสถียรภาพและความมั่นคงของรัฐบาล ส่วนรัฐบาลลาวมีกำหนดนโยบายชัดเจนว่าจะนำพาประเทศหลุดพ้นจากความยากจนในปี 2020” นายสกล กล่าว
นอกจากนี้ รัฐบาลของทั้งสองประเทศยังดำเนินนโยบายที่อำนวยความสะดวกและดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาร่วมกันพัฒนาประเทศ โดยเห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงของ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของทั้งสองประเทศซึ่งเติบโตเร็วมาก ซึ่งปัจจุบันได้มีสิ่งก่อสร้างประเภทโรงแรมและห้างสรรพสินค้าอยู่ในระหว่างก่อสร้างหลายแห่ง
นายสกล กล่าวว่า ท่านประธานธนินท์ เจียรวนนท์ ยังได้ให้แนวความคิดในการทำธุรกิจในอนาคตไว้ว่า บริษัทจะไม่มุ่งเน้นแต่เรื่องอาหารสัตว์และฟาร์มเลี้ยงสัตว์เท่านั้น แต่ควรให้ความสำคัญในการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ทั้งกลุ่มสัตว์และกลุ่มพืชในทั้งสองประเทศนี้ด้วย เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและจำนวนชาวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ยังเห็นโอกาสการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ไปยังสหรัฐและสหภาพยุโรป โดยต้องสร้างห่วงโซ่การผลิตเกษตรอินทรีย์ให้เกิดขึ้นในประเทศด้วย และจากแนวความคิดดังกล่าวที่ท่านประธานได้ให้ไว้ ปัจจุบัน บริษัท ซี.พี.กัมพูชา และ บริษัท ซี.พี.ลาว ได้เริ่มเข้าไปทำการศึกษาการทำธุรกิจด้านเกษตรอินทรีย์ แล้วในทั้ง 2 ประเทศ ในตอนนี้สามารถตอบได้ว่ามีความเป็นไปได้สูงที่เราจะมีธุรกิจใหม่ใน 2 ประเทศนี้ในอีกไม่นาน